สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซนครับ หลังจากที่เราเคยได้พูดถึงแนวทางของอุปกรณ์ในการประกอบ USB DAC เพื่อการใช้ฟังเพลงบนเครื่องคอมพิวเอตร์ จากแผงวงจรสำเร็จรูปที่หาซื้อได้บนโลกใบนี้ ซึ่งหลายๆคนก็อาจมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก อันนี้ก็แล้วแต่ความคิดกันหล่ะครับ ซึ่งบางคนก็อาจมองว่าซื้อของสำเร็จรูปมันก็ใช้งานได้มีทางเลือกตามงบประมาณ แต่การประกอบเองมันก็ได้อีกหนึ่งแนวทางที่แตกต่าง ที่มันสามารถปรับเปลี่ยนหลายๆสิ่งให้มันออกมาได้ตามใจและงบประมาณในกระเป๋า รวมไปถึงยังสามารถอัพเกรดกันได้อีกในอนาคต วันนี้ก็เป็นแนวทางในการประกอบอุปกรณ์ส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อให้ USB DAC ที่เราประกอบนั้นสามารถใช้งานได้ แต่ยังไม่มีความเรียบร้อย ดูดี และ สวยงามกันครับ วันนี้นอกจากการประกอบให้ใช้งานได้ จะมาพูดถึงข้อควรระวังในการเลือกซื้ออุปกรณ์ต่างๆให้เป็นแนวทางเพิ่มเติมกันอีกด้วย
** คำเตือน
*** บทความนี้มีการเกี่ยวข้อกับไฟฟ้ากระแสสลับ 220-230V ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต
**** โปรดศึกษาหลักการเบี้องต้นของไฟฟ้ากระแสสลับ
***** ทาง Overclockzone.com ไม่ขอรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น
บทความนี่เป็นเพียงแค่แนวทางเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าภาพอุปกรณ์ต่างๆนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่สุดหรือน่าสนใจแต่อย่างใด โดยของทั้งหมดเป็นของที่ผมซื้อมาลองเล่นๆ ทำไปเรื่อยๆครับ เล่นเองเจ็บเอง พลาดก็พอสมควร
DAC Board + USB I2S Card
มาถึงส่วนประกอบหลักกับ DAC Board ที่เวลาซื้อก็ดูให้ดีด้วยว่าราคานี้ ราคานั้นมีอุปกรณ์อะไรบ้าง อย่างเช่น OPAMP และ USB I2S Card บางทีแบบถูกมากๆพวกพอร์ต RCA Connecter , OP-AMP หรือ USB I2S Card ก็ไม่มีให้ต้องซื้อมาใส่เพิ่มเอง บางทีหน้าตาเหมือนๆกันแต่ราคาที่แตกต่างกัน ก็มีในพวก Clock Control หรือ คาปาซิเตอร์ที่เกรดคนละเรื่อง
USB I2S Card แบบนี้ที่ออกแบบมาให้ติดตั้งและใช้งานร่วมกับ DAC บอร์ดตัวข้างบนได้อย่างลงตัว ซึ่งตัวนี้นั้นสามารถอัพเกรด Clock Control เพิ่มเติมได้ครับ
นี่ก็ DAC Board อีกตัว ที่ผมสั่งมาแบบ ไม่มี OP-AMP และ USB Card แต่เป็นแบบอัพเกรดคาปาซิเตอร์และ Clock Control ให้ดีกว่าปกติ
มาถึงตัว USB I2S Card ที่เราจะเอามาประกอบลง DAC Baord เมื่อเราสั่งแยกมาขาที่ใช้เชื่อมต่อนั้นจะไม่มีติดมาให้ ก็ต้องมาติดเอง ที่สำคัญขา Pin ที่จะมาเชื่อมต่อนั้นดูรูปแบบบน DAC Board กันด้วยว่าแบบไหน ความยาวเท่าไรถึงเหมาะสม ในภาพที่ผมต้องบอกเลยถอดขาออกมาหลายรอบเพราะช่องเสียบที่ DAC Board แต่ละตัวที่ผมมีไม่เหมือนกัน
DAC Board อันนี้อีกตัวที่ผมแทบอยากจะเอาเท้าก่ายหน้ามาก สั่งมาเป็นแบบที่พร้อม USB I2S Card คนขายก็ใจดีเชื่อมติดไม่สามารถถอดมาเปลี่ยน USB I2S Card ได้
DAC Board ที่เป็นลักษณะ Soft Control จะมีหน้าจอแสดงผลพร้อมกับปุ่มสั่งการ ที่ในชุดนี้จะมี MCU (ให้เข้าใจง่ายเหมือน Rom Bios ของเมนบอร์ด) ถ้าไม่ติดตั้งก็ใช้งานไม่ได้นะครับ
Transformer
ในส่วนของหม้อแปลงลดแรงดัน โดยส่วนมาก DAC Board ที่มีขายๆกัน ต้องการไฟ AC 3 ชุด เป็น X-0 ,X-0 และ Y-0-Y อันนี้ก็ต้องดูจากผู้ผลิตหรือคนขายเพิ่มเติมว่า DAC บอร์ดที่เราจะซื้อมาใช้นั้นต้องการไฟ AC กี่ V กี่ A ใครมีเงินจะใช้หม้อแปลงลดแรงดันสองลูกก็ไม่ผิด จะใช้เป็นแบบ ลูกแรกเป็น X-0 ,X-0 ลูกที่สองเป็น Y-0-Y หรือ Y-0 ,Y-0 ถ้างบน้อยหรือประหยัดพื้นที่ใช้ลูกเดียวแบบ X-0 ,X-0 + Y-0-Y หรือ X-0 ,X-0 + Y-0 ,Y-0 ตอนซื้อก็เลือกดูละกันว่ารองรับไฟ 220V ด้วยหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องเป็น R-Core แบบในภาพก็ได้ จะเป็น Ei หรือ Toroidal ก็แล้วแต่ชอบครับ โดยที่ตัวฉลากหม้อแปลงลดแรงดันจะมีบ่งบอกให้ทราบอยู่แล้วว่าสายไฟสีไหน คือไฟขาเข้า และ ขาออกของชุดไหน ถ้าเจอแบบในภาพเป็นภาษาจีนก็ทำใจถามคนขายหรือถามคนที่รู้ภาษาจริงๆจะดีกว่า
ในเบื้องต้นแบบมักง่ายที่สุดก็หาท้าย IEC แบบขันน็อตมาเชื่อมต่อกับไฟ AC220 และ Ground เข้ากับตัวท้าย IEC จุดนี้ก็ควรระวังด้วยหาเทปกาวที่มันสามารถเป็นฉนวนไฟฟ้ามาพันกันเอาไว้ด้วย เอาเป็นว่าบางทีก็ลืมพันเอาไว้ โดยไฟดูดอยู่หลายครั้งเหมือนกัน
ในส่วนสายไฟชุด X-0 และ X-0 คงจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าไรนัก ในภาพผมก็จับรวบไว้เป็นชุดเดียวกันเพื่อไม่ให้ตัวเองงง และ ความสวยงาม (ระดับนึง)
ในกรณีของหม้อแปลงที่มาเป็นไฟแบบขด Dual จะไม่มีปัญหาอะไรมาก เพราะส่วนของสีสายไฟจะแยกมาสำหรับ Y-0-Y ให้เรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีที่หม้อแปลงลดแรงดันมาแบบ Y-0 + Y-0 แต่เราต้องการนำไปใช้งาน Y-0-Y นั้นก็จะต้องตั้งสติเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างในภาพที่จะเห็นว่าผมรวบสายไฟสีเขียวและเหลืองเป็นชุดเดียวกัน ก็เท่ากับว่า เหลือง(Y) - เหลือง+เขียว(0) - เขียว (Y)
ประกอบร่าง
จริงๆการประกอบ USB DAC สำเร็จรูปมันความยากมันก็ไม่เท่าไร ผมว่าสมัยเด็กผมต่อเลโก้ให้เป็นรถคันนึงยังยากกว่าเยอะ ฮ่าๆ มาถึงในส่วนของไฟ AC ขาเข้า ที่เราจะนำสายไฟจากหม้อแปลงลดแรงดันมาติดตั้งเข้าไป
ในส่วนของขา X-0 และ X-0 ซึ่งตามภาพจะเป็นไฟ AC 9V ก็นำสายของขด AC 9V มาติดตั้งที่ DAC Board ให้เรียบร้อย
ในแนวทางนี้หม้อแปลงลดแรงดันที่มาแบบ Dual Y-0-Y ตั้งแต่แรกก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตามภาพจะเป็น AC 15V แบบ Dual ก็จัดการติดตั้งสายเข้ากับ DAC Board ให้เรียบร้อย
ติดตั้ง USB I2S Card ให้เรียบร้อย เพียงเท่านี้เราจะได้ USB DAC ที่สามารถใช้งานได้จริงแล้วครับ
มาถึงแนวทางที่สองกับ DAC Board แบบ Soft Control ที่จะมีติด USB I2S Card มาเรียบร้อยแล้ว ไหนๆมันติดมาถอดออกไม่ได้ก็จัดการติดตั้งในส่วน Soft Control (MCU + Display + Button Control) ลงไปก่อน
มาต่อกันด้วยการตั้งสมาธิกับจะเข้าไฟ AC บน DAC Board
ในส่วนของขา X-0 และ X-0 ซึ่งตามภาพจะเป็นไฟ AC 9V ก็นำสายของขด AC 9V มาติดตั้งที่ DAC Board ให้เรียบร้อย
ในแนวทางที่สองหม้อแปลงลดแรงดันใช้แบบ Y-0 ,Y-0 ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตนัก ตามภาพจะเป็น AC 18V แบบ Dual (Y-0-Y) แต่ตามสเปคของผู้ผลิตนั้นสามารถใช้ไฟได้ตั้งแต่ AC15 ถึง 18 Dual ครับ สายไฟสองเส้น (จาก Y-0 และ Y-0 อย่างละเส้น) มารวบเป็นเส้น 0 กันก่อน
จัดการเชื่อมต่อสายที่เหลือของขด Y-0 ,Y-0 มาเข้าให้เรียบร้อย คราวนี้จากหม้อแปลงลดแรงดันแบบ Single AC สองขด ก็กลายเป็น Dual AC ตามที่ DAC Board ต้องการแล้ว
เพียงเท่านี้เราจะได้ USB DAC ที่สามารถใช้งานได้จริงแล้วครับ
ลองใช้งานจริง
สุดท้ายก็จะฝากไว้นิดนึง ถ้าจะใช้งานแบบไม่ลงเคสก็หาน็อตหกเหลี่ยมเพื่อยกบอร์ดให้ลอยขึ้นมา ถ้าจะแค่ลองชั่วคราวหาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้ามารองวางไว้ก็ได้ครับ เสียบปลั๊กใช้งาน เชื่อมต่อกันตามการใช้งานของ USB DAC ได้เลย
Conclusion
ในวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางการประกอบ DIY USB DAC ไว้ฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ ซึ่ง USB to I2S Module มันก็ยังสามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนจาก USB OTG เพื่อฟังเพลงจากสมาร์ทโฟนแล้วให้ USB DAC เป็นตัวแปลงสัญญาณเสียงดิจิตอลเป็นอนาล็อกได้เช่นกัน วันนี้ก็ยังไม่ได้ลงลึกอะไรกันมากกับการประกอบ เพราะตอนแรกจะเป็นเพียงแค่แนวทางของอุปกรณ์หลักที่ใช้ประกอบ DIY USB DAC ครับ ไว้คราวหน้าจะมาพูดถึงการประกอบ จุดที่ต้องระวังในการเลือกซื้ออุปกรณ์ และ วิธีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่แน่นอนว่าคราวหน้า DIY USB DAC มันจะเป็นช่วงของที่สามารถใช้งานได้จริง สำหรับวันนี้ผมก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ